คัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำคัญต่อผู้หญิงอย่างไร

มะเร็งปากมดลูกนั้นเกิดขึ้นที่บริเวณปากมดลูก ซึ่งอยู่ด้านในสุดของช่องคลอด ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ทำให้ในระยะแรกที่เริ่มป่วย มักไม่พบอาการแสดงใดๆ จะรู้ก็ต่อเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว

โรคมะเร็งในปากมดลูก เป็นโรคที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นในทุกๆปี เป็นภัยเงียบที่จะมาโดยที่คุณผู้หญิงไม่ทันรู้ตัว หรือรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่าโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และควรปฏิบัติอย่างเป็นประจำทุก 2-5 ปี ตามแต่ชนิดของการตรวจคัดกรอง (อ้างอิงจาก คำแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2563)

อาการของมะเร็งปากมดลูก เป็นอย่างไรบ้าง

สัญญาณของโรคมักจะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว โดยจะแสดงอาการดังนี้ มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ และปวดในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์

โดยเมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว ผู้ป่วยก็จะพบอาการอื่นๆตามมาด้วย อาทิ ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ปัสสาวะมีเลือดปน ปวดกระดูกในจุดต่างๆของร่างกาย หากพบสิ่งผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) โดยปกติแล้วผู้ที่ติดเชื้อ HPV จะสามารถหายเองได้โดยไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่มีบางคนที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้ออกไปได้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูก และกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด

เชื้อ HPV นั้นติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การมีคู่นอนหลายคน การเริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ภูมิคุ้มกันต่ำ การสูบบุหรี่ และการมีบุตรหลายคน

อาการของมะเร็งปากมดลูก เป็นอย่างไรบ้าง

สัญญาณของโรคมักจะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว โดยจะแสดงอาการดังนี้ มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ อาจเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ และปวดในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์

เมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว ผู้ป่วยก็จะพบอาการอื่นๆตามมาด้วย อาทิ ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ปัสสาวะมีเลือดปน อุจจาระมีเลือดปน หากพบสิ่งผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

การรักษามะเร็งปากมดลูก

ขั้นตอนการรักษามะเร็งปากมดลูก มีสิ่งที่จะต้องรับคำปรึกษาและตัดสินใจร่วมกันกับแพทย์ โดยการรักษาจะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนหลักการรักษา การเลือกประเภทการรักษาและโอกาสสำเร็จในการรักษาอีกด้วย

วิธีการรักษาที่ใช้ในระยะก่อนมะเร็ง คือ การผ่าตัดบางส่วนของปากมดลูกที่มีรอยโรคด้วยวิธี Large Loop Excision of the Transformation Zone (LLETZ) ซึ่งเป็นการตัดเนื้อเยื่อปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า การผ่าตัดแบบ Cone Biopsy ซึ่งเป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย และ Laser Therapy หรือก็คือ การใช้เลเซอร์จี้เซลล์ที่ผิดปกติออก และนัดติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

ส่วนในผู้ป่วยที่ตรวจพบเซลล์มะเร็งแล้ว ต้องรักษาตามระยะและอาการที่พบด้วย เพราะบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการที่มะเร็งลุกลามไปตามส่วนต่าง ๆ และอาจใช้วิธีในการรักษาร่วมกันมากกว่า 1 วิธี โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายและอาการป่วย

วิธีการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งแล้ว ได้แก่ รังสีรักษา (Radiotherapy) เคมีบำบัด (Chemotherapy) และการผ่าตัด (Surgery) ปากมดลูก มดลูก รังไข่ ขึ้นกับความเหมาะสมของคนไข้ตามระดับความรุนแรงของโรคและบริเวณอวัยวะที่ถูกมะเร็งลุกลาม 

ผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาเป็นการผ่าตัด หรือการใช้รังสีรักษาร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด ส่วนผู้ป่วยที่มีการลุกลามของมะเร็งที่มากขึ้นมักใช้วิธีการรังสีรักษาร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด หรือใช้ยาเคมีบำบัดอย่างเดียวในกรณีที่มีการแพร่กระจายของโรคในระยะที่ 4

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งปากมดลูก

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว จะมีผลกระทบกับอับอวัยวะนั้นๆ รวมถึงกระดูกด้วย โดยอาการที่อาจจะเกิดขึ้น มีดังนี้ มีภาวะเลือดออกจากช่องคลอด ช่องคลอดมีกลิ่นและเกิดการติดเชื้อ เกิดลิ่มเลือดที่อาจปิดกั้นทางเดินเลือด เกิดช่องทะลุระหว่างเนื้อเยื่ออวัยวะ และไตวาย อีกทั้งอาจพบอาการแทรกซ้อนหลังจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือการผ่าตัด

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

วิธีป้องกันอย่างแรก ทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งจะช่วยป้องกันไวรัสบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะไวรัสที่มีความเสี่ยงสูงสุด อย่าง HPV 16 และ HPV 18 โดยในปัจจุบันมีวัคซีนแบบ 4 และ 9 สายพันธุ์ โดยหลักๆ คือสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18 ที่เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ 6, 11 ที่ก่อให้เกิดโรคหูดที่อวัยวะเพศ โดยระยะเวลาที่ฉีดวัคซีนแล้วมีประสิทธิภาพดีที่สุด คือช่วงก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรืออายุน้อยกว่า 25 ปี หากฉีดหลังจากนี้จะยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้อยู่แต่ประสิทธิภาพจะลดลง

วิธีป้องกันอีกวิธีหนึ่งคือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำไว้ในปี พ.ศ. 2563 ว่า ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงอายุ 25 ปีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือในผู้หญิงอายุ 30 ปีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยตรวจด้วยวิธีใดๆ ต่อไปนี้ คือ

  1. Primary HPV testing เป็นการตรวจหาเชื้อ HPV ที่บริเวณปากมดลูก โดยแนะนำให้ตรวจทุก 5 ปี
  2. Co-test เป็นการตรวจหาเชื้อ HPV ที่บริเวณปากมดลูก ร่วมกับตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก โดยแนะนำให้ตรวจทุก 5 ปี
  3. Cytology เป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก โดยแนะนำให้ตรวจทุก 2 ปี

สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี สามารถหยุดการตรวจคัดกรองได้ หากผลตรวจคัดกรองก่อนหน้านี้ปกติดีติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี แต่ในกรณีที่อายุมากกว่า 65 ปีและยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ แนะนำให้ตรวจคัดกรองต่อไปตามปกติ และสำหรับผู้หญิงที่ตัดมดลูกและปากมดลูกออกไปแล้ว แต่ไม่มีประวัติว่าผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติก่อนการผ่าตัด หรือตัดมดลูกเนื่องจกเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกซ้ำ

นอกจากฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำแล้ว คุณผู้หญิงสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV ได้โดยการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่สูบบุหรี่ และสำรวจตัวเองบ่อยๆ สังเกตอาการเป็นระยะ และเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการ

 

บทความโดย : อ. ปวริศา นิลเลื่อม