การตรวจ Exercise Stress Test(EST)

เป็นวิธีการตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยรวมที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย ถูกนำมาใช้บ่อยในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งจะทดสอบได้ว่าเมื่อมีการออกกำลังกายหัวใจจะมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น จะเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดขึ้นหรือไม่ หากผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางรายจะเกิดอาการเจ็บจุกหน้าอก และอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นโรคหัวใจ

การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังโดยวิธีการออกกำลังกายจะมีวิธีหลักอยู่ 2 วิธี คือ

การเดินสายพาน (Treadmill)

การปั่นจักรยาน (Cycling)

 

 

ขั้นตอนการทำ EST

ขั้นตอนการตรวจจะเริ่มจากการติดอุปกรณ์แผ่น Electrode ที่บริเวณหน้าอก แขน และขา เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัตราการเต้นของชีพจรรวมถึงติดเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ที่ต้นแขน จากนั้นให้ผู้รับบริการวิ่งบนสายพาน ระหว่างทำการทดสอบเครื่องสายพานจะเพิ่มระดับความเร็วและความชันทุก ๆ  3 นาที โดยระหว่างที่ผู้รับบริการออกกำลังกายอยู่นั้น จะมีการสังเกตอาการ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการเต้นของชีพจรและความดันโลหิตเป็นระยะ โดยมีเจ้าหน้าที่นักเทคโนโลยีหัวใจซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของอายุรแพทย์โรคหัวใจอีกขั้นหนึ่ง หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจขาดเลือดจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น

ประโยชน์ของการตรวจ EST

- ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงว่าผู้ป่วยจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

- ใช้สำหรับการวินิจฉัยแยกโรคผู้ป่วยที่มาด้วยอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ว่ามีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่

- ใช้ประเมินผลในการรักษาด้วยในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม

- ใช้ประเมินประสิทธิภาพความสามารถสูงสุดของร่างกายและหัวใจในการออกกำลังกาย

- ใช้ในการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ EST

- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด เช่น ผู้สูบบุหรี่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดของอวัยวะอื่นอยู่แล้ว หรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรืออัมพาต

- ผู้ที่มีอาการผิดปกติที่อาจเป็นภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ

- นักกีฬาหรือผู้ที่ต้องการออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะการวิ่งสายพานจะช่วยให้รู้ระดับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับระดับการเต้นของหัวใจและสามารถช่วยคัดกรองโรคหัวใจที่ซ่อนอยู่

ข้อควรระวังในการตรวจ EST

-อาการเมื่อยล้าบริเวณต้นขาหรือบริเวณน่อง

-ความดันโลหิตต่ำลงระหว่าง Exercise ซึ่งอาจจะพบได้ประมาณ 1 – 5% ความดันโลหิตที่ลดต่ำลงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะได้ ซึ่งผู้รับการตรวจควรจะรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการดังกล่าว

-ความเสี่ยงอี่น ๆที่พบได้น้อยมาก (< 1%) ได้แก่ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

- งดน้ำและอาหารก่อนตรวจ  3 ชั่วโมงก่อนทดสอบ

- งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เนื่องจากคาเฟอีนอาจรบกวนการแปรผลการทดสอบ

- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนล่วงหน้าในกรณีที่มียารับประทานประจำ เพื่อให้แพทย์ได้พิจารณาและให้คำแนะนำ หากมียาตัวใดที่มีผลรบกวนต่อการตรวจ โดยเฉพาะยาโรคหัวใจเช่น ยากลุ่มที่รักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและยาในกลุ่มลดความดันโลหิตสูง

-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

-ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย

 

เรียบเรงโดย :

นพ.วีรธัช  อานันทนิตย์  แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ โรงพยาบาลวิภารามปากเกร็ด

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์หัวใจชั้น 2 รพ.วิภารามปากเกร็ด เปิดบริการทุกวัน 8.00-17.00 น.

Tel.02 0924900 ต่อ 220